ตลอดช่วงต้นปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐล้วนแต่ออกมาตีฆ้องร้องป่าว ถึงเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออก และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น GDP ของประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่าตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวดูดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีอีกหลายอย่างที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในระบบธนาคารของไทย
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกในเดือน ธันวาคม 2560 มีมูลค่า 19,741 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 และขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ทำให้ภาพรวมการส่งออกของประเทศไทยในปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกทั้งปี 236,694 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9% สูงที่สุดในรอบ 6 ปี
นอกจากนี้ผู้อำนวยการสนค. ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2561 ของไทย จะขยายตัวที่อัตรา 5-7%
ด้านนางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ภาพรวมปี 2560 มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 74,517 ราย ซึ่งเป็นสถิติการจดทะเบียนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 10,229 ราย เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปี 2559 เนื่องจากเป็นมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล
ตัวเลขทางสถิติทั้งในเรื่องการส่งออกที่ขยายตัวอย่างมาก และการจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ในปี 2560 ที่ดูเหมือนว่าภาคธุรกิจของประเทศไทยกำลังขยายตัว แต่เมื่อพิจารณาเชิงตัวเลขที่ลึกลงไปกลับมีความน่าสนใจในตัวเลขที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออก โดยสถิติตัวเลขการส่งออกของไทยย้อนไปในปี 2557 มีการเติบโต 5.81% ปี 2558 ติดลบ 1.17% ปี 2559 เติบโต 4.5% ก่อนที่จะมาเติบโตในปี 2560 ถึง 9.9%
คำถามก็คือตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2560 นั้นมาจากไหน? ซึ่งในตัวเลขสถิติการส่งออกในปี 2560 พบว่า ประเทศที่มีการขยายตัวด้านการส่งออกกับไทยมากที่สุดในปี 2560 นั้นก็คือ ประเทศจีน ซึ่งมีการขยายตัวทางการส่งออกมากถึง 21.62% หรือ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 909,00 ล้านบาท ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่ไทยมีการส่งออกสินค้ามากที่สุดแซงหน้าอเมริกา
ในทางกลับกันการส่งออกไปยังอเมริกา และญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญกลับมีการขยายตัวที่ลดลง ดังนั้นการส่งออกที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นจึงมีปัจจัยสำคัญมาจากประเทศจีน ซึ่งก็ต้องมองกันต่อไปยาวๆ ว่าจีนจะเป็นตลาดที่ไทยสามารถพึ่งพาในการส่งออกไปได้ยาวนานแค่ไหน และดุลการค้าระหว่างไทยกับจีนนั้นใครได้ดุลการค้า
อีก 1 ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดูจะสวนทางกับการประกาศว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังดีขึ้นก็คือ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในระบบธนาคารและสถาบันการเงินของไทย โดยรายงานงบการเงินปี 2560 ของธนาคารไทยพาณิชย์ 9 แห่ง ได้แก่ ไทยพาณิชย์ (SCB), กสิกรไทย (KBANK), กรุงเทพ (BBL), กรุงศรีอยุธยา (BAY), ทหารไทย (TMB), ทิสโก้ (TISCO), เกียรตินาคิน (KKP), แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) และซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) พบว่าแม้ธนาคารไทยทั้ง 9 แห่งยังคงมีผลประกอบการที่มีกำไรถึง 157,238 ล้านบาท แต่ก็ถือว่ามีสัดส่วนกำไรลดลง 2.89% เมื่อเทียบกับปี 2559
นอกจากนี้ตัวเลขหนี้ NPL ในระบบธนาคารไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 307,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากปีก่อนหน้า ซึ่งธนาคารที่มีหนี้ NPL สูงที่สุด คือ ธนาคารกรุงเทพฯ มี NPL รวม 87,419 ล้านบาท ตามมาด้วย ธนาคารกสิกรไทย 69,674 ล้านบาท และ ธนาคารไทยพาณิชย์ 65,560 ล้านบาท
ในส่วนของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ คาดการณ์กันว่า หนี้ NPL ปี 2560 น่าจะสูงกว่า 100,000 ล้านบาท จาก เดิมในปี 2559 ที่มี NPL สูงถึง 91,000 ล้านบาท ดังนั้นหากรวมตัวเลข NPL ของธนาคารกรุงไทยกับธนาคารพาณิชย์อีก 9 แห่ง ก็จะมีมากกว่า 400,000 ล้านบาท
ตัวเลข NPL ในระบบธนาคารที่สูงขนาดนี้ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของสภาวะทางการเงินของธุรกิจ และ ประชาชน ที่กำลังมีปัญหาเรื่องรายได้ และการชำระหนี้สิน ซึ่งดูจะสวนทางกับการ ที่ภาครัฐต้องการชี้ให้เห็นว่าภาพรวมของเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น!!!
Reference
https://www.prachachat.net/finance/news-104470
https://www.prachachat.net/economy/news-104948